ผลของการเสริมสารละลายอิเล็กโทรไลต์ในน้ำดื่มต่อคุณภาพเนื้อของไก่กระทง อาจารย์ที่ปรึกษา : อาจารย์ ศิริพร นามเทศ หลักสูตร : แขนงวิชาสัตวศาสตร์
ศึกษาผลของการเสริมสารละลายอิเล็กโทรไลต์ในน้ำดื่มต่อคุณภาพเนื้อของไก่กระทง ใช้ไก่รอส 308 อายุ 35 วัน จำนวน 120 ตัว โดยวางแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design (CRD) การทดลองแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 2 ซ้ำๆ 6 ตัว (ทั้งหมด 36 ตัว) โดยกลุ่มที่ 1 ไม่เสริมสารละลายอิเล็กโทรไลต์ในน้ำดื่ม (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 เสริมสารละลายอิเล็กโทรไลต์ ในน้ำดื่ม 0.05 เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลา 3 วัน และกลุ่มที่ 3 เสริมสารละลายอิเล็กโทรไลต์ในน้ำดื่ม 0.1เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลา 7 วัน ผลการทดลองพบว่า ค่าสี L* ของกลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ขณะที่ค่าสี a* และค่าสี b* ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) ในส่วนของคุณภาพเนื้อพบว่า เปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำจากการแช่เย็นที่ 48 ชั่วโมง การสูญเสียน้ำจากการทำละลายและการสูญเสียน้ำหลังจากการปรุงสุก มีค่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) ขณะที่กลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 1 มีแนวโน้มการสูญเสียน้ำจากการแช่เย็นที่ 24 ชั่วโมงมากกว่ากลุ่มที่ 3 (P=0.08) ส่วนค่าแรงตัดผ่านของชิ้นเนื้อมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ดังนั้นจากผลการทดลองชี้ให้เห็นว่าการเสริมสารละลาย อิเล็กโทรไลต์ในน้ำดื่มของไก่กระทง ส่งผลต่อสีเนื้อทำให้เนื้อมีสีที่เข้มขึ้นและคุณภาพเนื้อมีความนุ่มขึ้นเนื่องจากค่าแรงตัดผ่านชิ้นเนื้อมีค่าที่ต่ำ
|