การปรับปรุงคุณภาพของเมล็ดหัวไชเท้าเสื่อมสภาพด้วยโพแทสเซียมไนเตรทและความร้อน อาจารย์ที่ปรึกษา : อาจารย์ ดร.ธนกร วังสว่าง หลักสูตร : แขนงวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช
หัวไชเท้า (Daikon) เป็นที่นิยมปลูกกันทั่วไปในหลายประเทศ ในประเทศไทยมีปลูกหลายสายพันธุ์ มีประโยชน์และสรรพคุณทางยาหลายอย่าง สามารถรับประทานสดได้ นำมาประกอบอาหารเมนูต่างๆ ได้หลายเมนูการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์หัวไชเท้าที่เพิ่มขึ้นนอกจากทำให้เมล็ดมีความแข็งแรงลดลงแล้วยังมีผลทำให้ความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์ลดลงเช่นกัน เมื่อความแข็งแรงของเมล็ดลดลงต่ำสุด ความเสื่อมของเมล็ดสูงสุด สารละลาย KNO3 สามารถแก้การพักตัวของเมล็ดพันธุ์เนื่องจากการจำกัดของออกซิเจนได้ จากการแตกตัวให้ออกซิเจนแก่เมล็ดพันธุ์ ที่ช่วยให้เมล็ดพันธุ์มีการหายใจเพิ่มขึ้นจึงมีผลให้เมล็ดพันธุ์งอกได้เร็วขึ้น ดังนั้นงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารละลาย KNO3 ที่ความเข้มข้นต่างกัน และอุณหภูมิในการอบลมร้อนที่แตกต่างกัน เพื่อหาความเข้มข้นที่เหมาะของสารละลาย KNO3 และอุณหภูมิในการอบลมร้อนที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดพันธุ์หัวไชเท้าที่เสื่อมสภาพ โดยวางแผนการทดลองแบบ (Completely Randomized Design (CRD) แบ่งออกเป็น 7 กรรมวิธี (Treatment: T) กรรมวิธีละ 4 ซํ้า (Replication: R) ซ้ำละ 50 เมล็ด ใช้สารละลายโพแทสเซียมไนเตรทที่ความเข้มข้น 1%, 3% และ 5% และใช้อบลมร้อนด้วยเครื่อง Hot air oven ที่อุณหภูมิ 40°C, 45°C และ 50°C เป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมง นำเมล็ดหัวไชเท้ารุ่นเดียวกันไปทดลองตามชุดการทดลองที่ได้กล่าวไปข้างต้น บันทึกข้อมูลเปอร์เซ็นต์ความงอก เปอร์เซ็นต์ต้นกล้าปกติ ดัชนีการงอก จำนวนใบ ความยาวต้นและความสูงต้น น้ำหนักสดและน้ำหนักแห้ง ผลการทดลองพบว่าการใช้สารละลายโพแทสเซียมไนเตรท ที่ความเข้มข้น 1% มีดัชนีการงอกของเมล็ดหัวไชเท้าสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การทดลองครั้งนี้เกิดความคลาดเคลื่อนจึงทำให้การทดลองไม่สำเร็จ เนื่องจากเมล็ดหัวไชเท้า พันธุ์เอเวอร์เรสท์ ยี่ห้อ TAKII SEED หมดอายุไปตั้งแต่ปี 2557 แต่กลับให้ผลการเจริญเติบโตของต้นหัวไชเท้าไม่ต่างจากเมล็ดหัวไชเท้าที่ไม่หมดอายุอาจเกิดผิดพลาดได้จากหลายปัจจัย เช่น สภาพการมีชีวิตของเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์จึงไม่เหมาะสมที่ทำการกระตุ้นให้เมล็ดหัวไชเท้าที่เสื่อมสภาพแล้วกลับมามีชีวิตอีกครั้ง สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดคาดเคลื่อนในการทดลอง จากงานวิจัยนี้แนะนำในอนาคตว่าควรหาสารชนิดอื่นที่มีต้นทุนต่ำมาทดแทน หรือใช้อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เมล็ดลดการเสื่อมสภาพและควรทำการทดลองซ้ำเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำ และมีความน่าเชื่อถือก่อนจะนำไปเผยแพร่แก่ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อไป
|